ตอนทิ้งขยะที่ญี่ปุ่นยังไงหนอ
เคยรู้สึกขัดใจตอนมาเที่ยวญี่ปุ่นไหม?
ทำไมหนอ ถังขยะ ถึงได้หายากหาเย็นขนาดดดด
ถ้าไปตามสถานที่ท่องเที่ยวละก็เราคงจะเจอแค่ ถังขยะสำหรับกระป๋อง ขวด
ซึ่งดูเป็นปัญหาสำหรับนักท่องเที่ยวอย่างเราๆ
ทั้งเรื่องต้องแยกขยะเอย ถังขยะก็หายากอีก จะทิ้งยังไงดี
สุดท้ายไม่วาย ก็มีการวางขยะตามถังทิ้งผ้าอนามัยในห้องน้ำบ้าง
หรือวางทิ้งตามข้างๆ ถังทิ้งขวดบ้าง
ก็คงจะดูลำบากใจกันทั้งสองฝ่าย ทั้งคนทิ้งเองที่ไม่รู้จะต้องทิ้งยังไง
และคนเก็บขยะไปทิ้งก็อาจจะรู้สึกไม่ดีอีกทีด้วย
ตอนนี้เลยอยากจะมา สรุป แนะนำ แชร์ ความรู้เรื่อง ขยะๆ ในญี่ปุ่นให้ผู้อ่านได้ฟังกัน
・แก้วชา ถาดขนม ไม้เสียบขนม และอื่นๆ
หรือต้องบอกว่าเป็นขยะจากการซื้อขนมตามร้านทั่วไป จริงๆแล้วร้านขายขนมเหล่านี้มักจะมีถังขยะอยู่หน้าร้านซะส่วนใหญ่ อย่างหนึ่งที่คนญี่ปุ่นชอบยืน/นั่งกินที่หน้าร้านเหล่านี้เพียงเพราะ เมื่อกินเสร็จแล้วก็ทิ้งขยะเลย จะได้ไม่เอาขยะเหล่านั้นมาเป็นภาระในการเดินเที่ยวต่อไป เพราะฉะนั้นอย่าเอาขยะไปทิ้งในห้องน้ำเลย อย่างน้อยเดินตามหาร้านขายขนม/ขายชาซักร้านแล้วเอาไปทิ้งยังดีกว่าน้าา
・ขยะในห้องน้ำ
จริงๆถ้าในห้องน้ำส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีถังนอกห้องน้ำเท่าไหร่ หรือถ้าจะมีก้คือทิ้งกระดาษทิชชูที่ใช้เช็ดมือหลังล้างมือแล้ว ส่วนในห้องน้ำ ปกติจะใช้ทิ้งผ้าอนามัยอย่างเดียว (สำหรับคุณผู้หญิงนะ) ส่วนกระดาษทิชชูในห้องน้ำของประเทศนี้คือสามารถทิ้งลงชักโครกแล้วกดลงได้เลย เดียวมันไปละลายเอง
・ขวดน้ำ กระป๋อง
ถังขยะเหล่านี้หาได้ไม่ยาก มักถูกวางไว้ข้างตู้กดน้ำ เพื่อให้ง่ายหลังจากดื่มน้ำเสร็จ กดตู้ ดื่ม ทิ้ง จบ ง่ายมากก
・ขยะเผาได้ ขยะเผาไม่ได้
จริงๆต้องบอกเลยว่ามาอยู่แรกๆ งงมากกก ไม่ชินเลย เพราะไทยจะแบ่งขยะเป็น ขยะเปียก ขยะทั่วไป ขยะอันตราย ทำนองนั้น แต่ญี่ปุ่นจะเแบ่งเป็น ขยะเผาได้ ขยะเผาไม่ได้ ส่วนอื่นๆคือจะเฉพาะเจาะจงไปเลยเช่น เสื้อผ้า กระป๋องสเปรย์ แก้ว และอื่นๆ ส่วนใหญ่แล้วตามที่ท่องเที่ยวทั่วไปมักไม่มีถังขยะแบบนั้นวางไว้ เพราะปกติการแยกขยะแบบนี้มักจะทำที่บ้านหรือที่พัก เพื่อให้คนเก็บขยะนำขยะเหล่านั้นไปจัดการอย่างถูกต้องตามประเภทของขยะนั้นๆ เพราะฉะนั้น หากมาเที่ยวแล้วที่พักมีการให้ต้องแยกขยะ ก็อย่าลืมใส่ใจกันซักนิด เพราะหากไม่แยกขยะนั้น ถุงขยะที่เจ้าของนำไปวางหน้าที่พักเพื่อให้สำนักงานจัดการขยะมาเก็บไปนั้น จะไม่ถูกเก็บไป และยังถูกแจ้งเตือนให้ผู้รับผิดชอบถุงขยะนั้นต้องนำถูกกลับไปแยกขยะอีกครั้งด้วย มันก็จะสร้างความลำบากให้หลายๆฝ่าย
ส่วนเรื่องขยะเผาได้ เผาไม่ได้แยกยังไงนั้น? ก็ไม่ได้ยากขนาดนั้น ถ้าเป็นการดาษ พลาสติกอ่อนอย่างพวกที่แรปอาหาร เศษอาหาร สิ่งเหล่านี้จะเป็นขยะเผาได้ แต่ถ้าเป็นพลาสติกแข็ง ซองอาหารหรือขนม อลูมิเนียม ก็จะเป็นขยะเผาไม่ได้ไป แต่อย่าลืมว่ายังไง ขวดน้ำ กระป๋อง ก็ต้องถูกนำไปทิ้งถังเฉพาะของพวกเขานะ ไม่ได้รวมกับขยะเผาได้หรือไม่ได้
จริงๆแล้วอีกเรื่องสำหรับใครที่ต้องมาอยู่ญี่ปุ่นระยะหนึ่งๆนั้น กรณีนี้การทิ้งขยะ/แยกขยะ กฎเกณฑ์ต่างๆขึ้นอยู่กับแต่ละเขตที่อาศัย เพราะแต่ละเขตจะมีการจัดการขยะที่แตกต่างกัน ปกติถ้าเราไปลงทะเบียนที่อยู่ที่สำนักงานเขตแล้วละก็ เขาจะให้เอกสารเกี่ยวกับการทิ้งขยะมาให้ด้วย
・ของชิ้นใหญ่
เป็นดังคำเล่าลือที่ว่าประเทศนี้ทิ้งของชิ้นใหญ่ยากเย็นซะเหลือเกิน ส่วนตัวเคยมีประสบการณ์การทิ้งเก้าอี้ซึ่งก็ต้องทำตามกฎของที่นี้ด้วยเช่นกัน อ้างอิงจากเขตที่เราอาศัยอยู่จะมีการกำหนดขนาดสิ่งของไว้ว่า ถ้าของที่จะทิ้งของชิ้นใหญ่ขนาดเกิน 40 cm จะต้องติดต่อที่สำนักงานเขต ซึ่งเราไม่สามารถเอาของไปวางไว้ข้างถังขยะได้ เพราะเขาจะไม่เก็บไปหากไม่มีการติดต่อหรือติดสติกเกอร์ทิ้งขยะให้ถูกต้อง ถ้าเป็นการทิ้งของชิ้นใหญ่ ทุกชิ้นจะต้องมีสติกเกอร์ทิ้งขยะติดที่ของและนำมาวางไว้ที่จุดทิ้งขยะให้ถูกต้อง
ซึ่งถ้าตัดสินใจทิ้งแล้วเราต้องโทรไปที่สำนักงานเขต เพื่ออธิบายถึงประเภทสิ่งของว่าคืออะไร ลักษณะแบบไหน เพื่อทางเขตจะให้กำหนดว่าของชิ้นนี้ควรต้องซื้อสติกเกอร์ขนาดใดมาติด เพราะสติกเกอร์เองก็จะมีหลายราคาขึ้นอยู่กับขนาดของสิ่งของด้วย และปกติตัวสติกเกอร์ก็สามารถซื้อได้ตามร้านสะดวกซื้อของเขตนั้นๆได้เลย หลังจากที่อธิบายสิ่งของให้ทางเขตรับทราบแล้ว ทางเขตก็จะแจ้งวันที่จะให้เอาของออกมาทิ้ง
พอได้สติกเกอร์มาก็เขียนชื่อคนทิ้ง และวันที่แจ้งทิ้งให้เรียบร้อย หลังงานนั้นก็แปะกับของที่จะทิ้ง เมื่อถึงวันที่จะทิ้งก็เอาของไปวางหน้าบ้านให้เรียบร้อย ถือว่าจบการทิ้งของชิ้นใหญ่จ้าา
Comments
Post a Comment